“เมื่อโลกมันกว้าง การเดินทางจึงสำคัญ” เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปเที่ยว ไปเจอสถานที่ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ แต่การจะไปเที่ยวแต่ละครั้งสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “เงิน” แล้วเราจะทำยังไงดีหล่ะให้มีเงินไปเที่ยว เรามีแนวทาง 9 ข้อ มาแนะนำดังนี้ค่ะ

          1. จุดหมายปลายทางที่อยากจะไป ประเทศใด จังหวัดไหน

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเราอยากไปที่ไหน ซึ่งเป็นที่ที่เราสามารถเอื้อมถึง ความฝันของต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะทำได้ ไม่ใช่ฝันยิ่งใหญ่แล้วไปไม่ถึง ให้ตายเถอะโรบิ้น แล้วเมื่อไหร่จะได้ไป เริ่มแรกอาจจะเป็นในประเทศก่อน จากนั้นขยับมาเป็นต่างประเทศในแถบเอเชีย เราเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าไปได้ไปที่แรกแล้วมันจะมีภูมิบางอย่างที่เรียกว่า “ความกล้า” ให้เราอยากไปที่ไกลๆดูบ้าง

เช่น อยากไปเที่ยวฮ่องกง งบประมาณ 15,000 บาท ระยะเวลาประมาณ 4 วัน 3คืน

           2. เช็คเงินในกระเป๋าสตางค์

ข้อนี้เป็นไฮไลท์หนึ่งที่สำคัญมาก “เงินเดือน” หรือ “เงินที่ได้จากการทำงาน” หลายคนมีคำถามเกิดขึ้นว่า “เงินเดือนอันน้อยนิดอย่างฉันจะไปเก็บได้ยังไง” “ภาระแสนแปดจะเอาที่ไหนมาเก็บ” นู่นก็อยากได้ นี่อยากมี สารพัด เราเชื่อว่าหลานคนเป็นซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เราไม่ได้มีเงินเดือนเยอะมากมาย ไม่ได้ร่ำรวย มีรายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบ แต่สิ่งสำคัญของข้อนี้คือ “ใจ” ใจที่อยากจะไปเที่ยว คิดเสมอว่าเราต้องไปยืนนะจุดนั้นให้ได้ แล้วมันจะเป็นแรงผลักดันเราเอง อย่าฝันไกลถ้าอยากจะฝันไกลให้กลับไปดูเงินในกระเป๋าค่ะ

             3. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

แน่นอนว่าเราทุกคนล้วนรักความสบายและความหรูหรา แต่หากเราตัดค่าใช้จ่ายที่ช่วยเสริมความสบายของเราออกไปเสียบ้าง จะทำให้เอามีเงินออมมากขึ้น โดยอย่าให้กระทบกับความเป็นอยู่แบบเดิมมากนักนะคะ เช่น จากเดิมที่กินกาแฟแก้วละ 100-200 บาท เปลี่ยนมาเป็นแก้วที่ถูกลงได้มั๊ย หรือ ชงกินเอง (อร่อยป่าวอ่ะ นั่นซิ) ถีบจักรยานมาทำงาน (อันนี้ฮาดคอร์มาก มาถึงที่ทำงานนี่เหงื่อโฮกกันเลยทีเดียว) อันนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคนละกันนะคะ

              4. เริ่มเก็บออม เข้าบัญชี “เที่ยว”

ข้อนี้ก็เป็นไฮไลท์อีกข้อที่สำคัญมาก สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่น อดทนต่อสิ่งเร้าภายนอกให้ได้ ถ้าทนได้ฝันที่วางเอาไว้ก็จะเป็นจริง แต่ถ้าทนไม่ได้ “เจ๊า” หรือ “เจ๊ง” เท่านั้นค่ะ โดย “เจ๊า” คือได้ของอย่างอื่นมาแทน ส่วน”เจ๊ง” คือไม่ได้เที่ยวซักที

-แล้วควรจะเก็บเท่าไหร่ดีหล่ะ ตามหลักของการวางแผนการเงินแล้วควรจะเก็บให้ได้ 10%ของรายได้ต่อเดือน แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ 5% ก็ถือว่าหยวนๆ หักดิบเลยค่ะ ท่องสถานที่เที่ยวไว้ (ฮ้องงงงงกงงงง)

-จะเก็บโดยการหยอดกระปุก หรือ ฝากธนาคาร ได้หมดเอาทีสะดวก แต่เราแนะนำว่าควรฝากไว้ในธนาคารเพราะมันจะทำให้เงินอยู่ไกลมือไม่อยากไปถอน อ้อ!!!อย่าทำเอทีเอ็มนะคะ มีเมื่อไหร่ถอนเมื่อนั้น

-ควรเก็บเป็นรายเดือน เราใช้วิธีการเปิดบัญชีขึ้นมาอีกบัญชีหนึ่งที่ไม่ใช่บัญชีเงินเดือน จากนั้นเราก็ทำการหักบัญชีอัตโนมัติ จากบัญชีเงินเดือนเข้ามายังบัญชีที่เปิดใหม่ทุกเดือน เรียกว่า Saving Plan ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องไปฝากเงินเอง ไม่ต้องกังวลว่าจะเก็บเงินได้มั๊ย มันจะทำให้คุณลืมไปเลยว่าคุณมีเงินเก็บ เพราะระบบมันหักอัตโนมัติ บางทีเรามาดูสมุดอีกที เฮ้ย!!!!! เราเก็บเงินได้ขนาดนี้เลยเหรอ ต้องลองค่ะ เช่นเรามีเงินเดือน 15,000 บาท หักไว้ 10% = 1,500 บาท เก็บ 10 เดือนก็ 15,000 บาท ฮ่องกงอยู่แค่เอื้อมมือ (สำหรับคนที่ไม่มีรายได้ประจำ ก็ต้องเก็บทุกครั้งที่มีรายได้นะคะ)

           5. เก็บแบบไหนดี

คำถามยอดฮิตเพราะการเก็บออมนั้นมีหลายรูปแบบมาก เราแนะนำแบบนี้ค่ะ

แบบที่ 1. หยอดกระปุก เก็บไว้ที่บ้าน ได้แต่เงินต้น ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีความเสี่ยง เสี่ยงอยู่อย่างเดียวคือเราจะเอาไปใช้เองซะหมด

แบบที่ 2. ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ได้ดอกเบี้ยประมาณ 0.5%ต่อปี ความเสี่ยงต่ำมาก

แบบที่ 3. ฝากไว้ในกองทุนตราสารหนี้ดีๆที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 0.5-0.7%ต่อปี ความเสี่ยงต่ำ เน้นการลงในพันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้ มันคือการพักเงินไว้ ทำให้เราได้ผลตอบแทนมาต่อยอดเงินของเราให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

             6. ทำบัตรเดบิตเพื่อใช้จ่ายเงินออนไลน์

วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบใช้บัตรเครดิต หรือ คนที่ยังไม่มีบัตรเครดิต เพราะการจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ในบางครั้งต้องจองผ่านทางออนไลน์ และ ทำการจ่ายเงินออนไลน์ ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งมีบัตรเดบิตที่ใช้รูดซื้อสินค้าและบริการเหมือนบัตรเครดิตเลย แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตจะใช้ได้ภายในวงเงินที่มีอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตรเท่านั้นค่ะ เช่น เรามีเงินในบัญชี 5,000 บาท ก็จะใช้ได้แค่ 5,000 บาทเท่านั้นค่ะ สะดวก ง้ายง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่ระวังแบงค์จะขายบัตรเดบิตที่มีประกันให้ด้วยนะฮะ บอกไปเลยว่าบัตรเดบิตเฉยๆฮะ

              7. ใช้บัตรเครดิตแลกไมล์

ข้อนี้ถือว่าการใช้บัตรเครดิตให้ดีเป็นศรีแก่ชีวิต เผลอๆได้บินฟรีด้วยซ้ำ เพราะว่าบัตรเครดิตเดี๋ยวนี้มีสะสมไมล์ของสายการบิน โดยการใช้คะแนนสะสมในบัตรแลกเป็นตั๋ว หลายคนคงรู้แล้ว วิธีก็ไม่มีอะไรมาก แค่ดูว่ามีรายได้ส่วนใดบ้างที่เราสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้บ้างก็จ่ายผ่านบัตรเครดิตแทนการจ่ายเงินสด เช่นค่าน้ำค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค เพื่อรับคะแนนสะสม เมื่อครบกำหนดแลกไมล์ ก็เปลี่ยนเป็นตั๋วเครื่องบิน บินไปลั้ลลาได้แบบฟรีๆ แต่ว่าอย่าลืมจ่ายให้ตรงเวลา จ่ายให้ครบด้วยนะคะ เพราะดอกเบี้ยรออยู่

               8. กดติดตาม ข่าวสาร โปรโมชั่นจากสารการบิน หรือ เพจต่างๆ

วิธีนี้จะทำให้เราได้ตั๋วที่ถูก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น ควรเลือกช่วงเวลาที่คนอื่นเค้าไม่ไปกัน เออ!!! แล้วช่วงไหนหล่ะ ที่คนเค้าไม่ไปกัน โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะเลือกวันธรรมดา กลางสัปดาห์เพื่อให้ค่อมเสาร์อาทิตย์จะได้ไม่ต้องลาเยอะ เช่น ไปพุธ-กลับอาทิตย์ ได้ปฏิทินมานี่สิ่งแรกที่ดูคือ “วันหยุด” และ ไฮท์ไลท์สีให้เห็นเด่นชัด พร้อมวางแผนลาพักร้อนตั้งแต่ต้นปี เพื่อหาตั๋วถูก โดยอาจจะวางแผนก่อนเดินทางประมาณ 6 เดือน แต่ถ้ามีโปรโมชั่นได้โปรดอย่ารอค่ะ บางทีหน้ามืดจองก่อน ตังจะเที่ยวยังไม่มี แต่มีตั๋วแล้วนะเฟ้ยยยยย มันจะเป็นแรงผลักดันให้เราหาเงินมาเพื่อสนอง Need ของเราค่ะ

               9. หาข้อมูลที่พัก + สถานที่เที่ยว

เป็นการประเมินค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะ “ค่าใช้จ่ายในทางการเดินทาง” นี่มองข้ามไม่ได้เลยนะคะ เพราะบางเมืองบางประเทศที่เราต้องไปนั้น ไม่ได้มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบาย ไม่มีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน เราอาจจะต้องเช่ารถเที่ยวเองหรือจ้างไกด์เพิ่ม หรือบางทีไปเจอที่พักที่เตะตา โดนใจ ว่าต้องพักที่นี่เพื่อ Check in แบบชิคๆ คูลๆ อาจจะต้องจองล่วงหน้า การเลือกพัก Hostel ก็จะทำให้ประหยัดเงินมากกว่าพักโรงแรม ฉะนั้นการวางแผนที่ดีนับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งนะคะ

สุดท้ายและท้ายที่สุดเราทุกคนต่างก็มีจุดหมายปลายทาง เส้นทางที่จะเดินแตกต่างกัน ไม่ว่าจะออกเดินทางด้วยวิธีไหน หากเป็นวิธีที่เราเห็นว่ามันดีที่สุดสำหรับเราแล้ว ให้เดินในแบบของเรา แต่ขอให้ไปถึงจุดหมายที่เราฝันไว้เหมือนๆกันเพราะ “ชีวิตเป็นของเรา ใช้ซะ”

By A Traveler Blog

 

พูดคุยกันได้ที่ : https://www.facebook.com/atravelerblog/

IG: A_Traveler_Blog

Twitter: A Traveler Blog

เก็บเงิน

 

Advertisement